ฟาร์มปลานิลเชิงพาณิชย์ใช้น้ำน้อยระบบ Biofloc
ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สภาวะ "น้ำไม่ใช่ทรัพยากรที่เหลือเฟืออีกต่อไป" นั่นเป็นเพราะทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตความแปรปรวนของภูมิอากาศ (climate change) อันเนื่องจากปัญหาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากเกินไปทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น (global warming) และจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆหากเราๆท่านๆไม่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทรัพยากรอย่างล้างผลาญ
หลายสิบปีที่ผ่านมาการเลี้ยงปลาในกระชังตามแม่น้ำสายใหญ่ๆ เช่น แม่น้ำโขงเป็นอาชีพที่มั่นคงและเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาไม่แพงสำหรับประชาชนอีกทั้งยังมีคุณภาพดีกว่าการเลี้ยงปลาในบ่อดิน แต่ปัจจุบันสถานะการณ์เปลี่ยนไปมากหลังจากประเทศจีนและประเทศลาวสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ยังผลให้ระดับน้ำ แปรปรวนไม่เป็นไปตามธรรมชาติสร้างความเสียหายต่อธุรกิจเลี้ยงปลาในกระชัง สาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตระหนักถึงปัญหานี้ตั้งแต่เริ่มต้นการสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยเชื่อว่าต้องเกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงปลากระชังอย่างแน่นอน จึงได้เตรียมนวัตกรรมการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์แบบใหม่ที่ "ใช้น้ำน้อยและไม่ต้องไปยุ่งกับแหล่งน้ำสาธารณะ" ขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากพยาธิใบไม้ในตับ นั่นคือระบบไบโอฟล้อก (biofloc)
.jpg)
แม่น้ำโขงเต็มไปด้วยเขื่อนพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก
เป็นที่ประจักษ์ว่าเขื่อนเหล่านั้นส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อแม่น้ำโขงและก่อความเสียหายต่อธุรกิจเลี้ยงปลาในกระชัง

ตอนนี้ (พฤศจิกายน 2562) แม่น้ำโขงเริ่มมีปัญหาจากเขื่อนที่ดักตะกอนไว้จนหมดทำให้เกิดสภาพ "แม่น้ำไร้ตะกอน" (hungry water หรือ hungry river) จะก่อให้เกิดการกัดเซาะตลื่งและท้องน้ำอย่างมาก
.jpg)
Biofloc ทางเลือกใหม่ของธุรกิจฟาร์มปลาที่ไม่ต้องไปยุ่งกับแหล่งน้ำสาธารณะ
เมื่อปี 2521 - 2522 มีโอกาสไปฝึกอบรมด้านการพัฒนาชนบทที่ประเทสอิสราเอลได้เห็นการทำฟาร์มปลานิลในทะเลทรายโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนักและก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงภาวะการขาดแคลนน้ำของประเทศไทยจึงไม่ได้ติดใจที่จะศึกษาแบบเจาะลึก ครั้นถึงปี 2560 เริ่มมีความคิดที่จะปรับปรุงรูปแบบการทำฟาร์มปลาที่ "ประหยัดน้ำ" จึงนึกถึงภาพการเลี้ยงปลาที่อิสราเอล นำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้บริหารและคณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร ม.ราชภัฏสกลนคร และเริ่มต้นโครงการสาธิตการเลี้ยงปลานิลระบบ biofloc โดยรับการสนับสนุนงบประมาณกลุ่มจังหวัดปี 2560

ภาพถ่ายเมื่อครั้งอยู่ที่ประเทศอิสราเอล กับการเริ่มโครงการสาธิตฟาร์มปลาระบบ biofloc ที่ ม.ราชภัฏสกลนคร

การเลี้ยงปลาในทะเลทรายของประเทศอิสราเอล
ระบบ Biofloc คืออะไร
เป็นการเลี้ยงปลาในคอนเทนเน่อร์บรรจุน้ำและเติมกากน้ำตาลเพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มจุลินทรีย์จำนวนมาก อีกทั้งมีระบบเติมอากาศเพื่อให้น้ำหมุนเวียนตลอดเวลาทำให้จุลินทรีย์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นตะกอนเรียกว่า biofloc กลายเป็นอาหารของปลามีเปอร์เซ็นโปรตีนสูงมาก ขณะเดียวกันกลุ่มจุลินทรีย์ก็ทำหน้าที่บำบัดอินทรีย์วัตถุที่เป็นของเสียจากปลาให้แปรสภาพเป็นก๊าซไนโตรเจนระเหยทิ้งสู่อากาศทำให้น้ำมีสภาพดีตลอดเวลา เรียกง่ายๆว่า biofloc คือบ้านอยู่อาศัยที่ดีของปลา

รูปร่างหน้าของ biofloc เป็นกลุ่มจุลินทรีย์จำนวนมากจับตัวกันเป็นตะกอนสีน้ำตาล
แผนผังอธิบายการกำจัดของเสียในระบบ biofloc ด้วยขบวนการจุลินทรีย์ ทำให้ของเสียที่เป็นสารแอมโมเนีย (Ammonia) แปรสภาพเป็นก๊าซไนโตรเจน (N2) ระเหยไปในอากาศ

การวัดค่าความหนาแน่นของ biofloc ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Imhoff cone เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
ขั้นตอนการทำฟาร์มปลานิลเชิงพาณิชย์
1.การก่อสร้างบ่อจากวัสดุ HDPE เป็นบ่อกลมขนาดบรรจุน้ำประมาณ 100 ลบ.ม. พื้นที่ 1 ไร่ สามารถสร้างได้ 8 บ่อ



2.เติมกากน้ำตาลลงไปในน้ำพร้อมกับเดินเครื่องเติมอากาศให้น้ำหมุนเวียนจนเกิดกลุ่มจุลินทรีย์ biofloc และปล่อยปลานิลขนาดเล็กที่ 14 กรัม / ตัว ในอัตราส่วน 2,000 - 2,500 ตัว ต่อน้ำ 100 ลบ.ม.

3.ให้อาหารปลาด้วย Robot ระบบอัตโนมัติ
.jpg)
4.เมื่อครบหนึ่งรุ่นใช้เวลา 6 เดือน จะได้ปลาที่มีขนาดที่ตลาดต้องการ

การวิเคราะห์ต้นทุนและกำไรเชิงพาณิชย์
ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถเลี้ยงปลานิลได้ 8 บ่อ มีกำไรสุทธิรุ่นละ 18,010 บาท ต่อ 1 บ่อ หากคำนวณ 8 บ่อ จะมีกำไรสุทธิ 288,160 บาท ต่อปี (2 รุ่น)

.jpg)
วิเคราะห์ต้นทุน กำไร ต่อ 1 บ่อ ต่อ 1 รุ่น
คำถาม ถ้าตลาดมีความต้องการเชิงพาณิชย์ วันละ 500 กก จะต้องมีปริมาณการเลี้ยงปลานิลระบบนี้จำนวนเท่าไร
คำตอบ ต้องมีปริมาณการเลี้ยงทั้งหมด 96 บ่อ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เมตร บรรจุน้ำ 100 คิว) ใช้พื้นที่ประมาณ 12 ไร่ โดยทะยอยจับปลาวันละ 500 กก (1 บ่อ ใช้เวลาจับ 2 วัน) และเริ่มต้นเลี้ยงใหม่ทันทีที่จับปลาเสร็จอีก 6 เดือนก็จับได้อีกครั้ง

คำถาม ........ถ้าเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนเชิงพาณิชย์จะทำได้หรือไม่?
คำตอบ ทำได้ครับโดยดูตัวอย่างจากฟาร์มของคุณนฤทธิ์ คำธิศรี ที่ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ เป็นการเลี้ยงในโอ่งแดงหรือท่อคอนกรีต ใช้เครื่องเติมอากาศขนาดเล็ก คุณนฤทธิ์ คำธิศรี เป็นนักเกษตรตัวอย่างท่านยืนยันว่า "ถ้าต้องการเพียงไม่เกิน 3 ตัว ต่อกิโล" แทบไม่ต้องให้อาหารเสริมเลยให้กินแต่ biofloc ก็พอเพียงแล้ว

การเลี้ยงปลานิลระบบ Biofloc แบบประหยัดสำหรับเป็นอาหารในครัวเรือนและตลาดท้องถิ่น

ปลานิลขนาด 3 ตัว / กิโลกรัม

คุณนฤทธิ์ คำธิศรี กำลังสาธิตการเลี้ยงปลานิลในโอ่งแดง ที่โรงเรียนประถมบ้านสงเปือย ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน
คำถาม ....... ระบบ biofloc เลี้ยงปลาชนิดอื่นหรือกุ้งจะได้หรือไม่
คำตอบ ได้ครับ สามารถเลี้ยงปลาน้ำจืดได้ทุกชนิดเพราะ biofloc เปรียบเสมือนบ้านที่ดีของปลา เพียงแต่เปลี่ยนชนิดอาหารและระยะเวลการเลี้ยงให้เหมาะกับปลาหรือกุ้งชนิดนั้นๆ
สรุป
การทำฟาร์มระบบ biofloc มีข้อดี
1.ประหยัดน้ำเพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเพียงแต่เติมเพื่อรักษาระดับเท่านั้น จึงเข้ากับภาวะการขาดแคลนน้ำได้อย่างดียิ่ง และยังเป็นการประหยัดพื้นที่
2.ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมข้างเคียง เพราะตะกอบ biofloc สามารถนำไปเป็นปุ๋ยปลูกพืชได้ดีมาก
3.เป็นผลผลิตที่เข้าคุณลักษณะ "ความปลอดภัยอาหาร" (food safety) เนื่องจากปลอดพยาธิใบไม้ในตับ
4.สามารถใช้อุปกรณ์อัตโนมัติแบบ artificial intelligence ได้ เช่น การควบคุมอาหารด้วย robot การควบคุมเครื่องเติมอากาศแบบ wireless หรือการติดตามการเจริญเติบโตของปลาด้วยระบบ sensor
ข้อควรระวัง
ต้องมีระบบสำรองไฟฟ้า หรือระบบถังอัดอากาศสำรองในกรณีไฟฟ้าดับ