ทำนาข้าวหอมมะลิ 105 ใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลผลิตเท่าเดิม ....... เป็นไปได้หรือไม่?

ผลผลิตโดยเฉลี่ยของข้าวหอมมะลิในภาคอีสานอยู่ราวๆ 350 - 450 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 2.00 - 2.8 ตันต่อเฮ็กเตอร์ ถ้าปลูกโดยใช้น้ำน้อยจะทำให้ผลผลิตลดลงหรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายต่อภาวะ "ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง" ในขณะที่เกษตรกรมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น สระน้ำในไร่นา (Farm Pond) น้ำใต้ดิน (Groundwater) หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในบริเวณใกล้เคียง (Small Reservoir) สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรับโจทย์นี้มาทดสอบหาคำตอบตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก 2559 (2016) และได้คำตอบที่ชัดขึ้นในปี 2561 (2018) โดยได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
1.ผลผลิตข้าวหอมมะลิน้ำน้อย ปี 2561 ด้วยวิธีรักษาระดับความสูงของน้ำในแปลงนาประมาณ 1 Cm ได้ผลผลิต 410 กก. / ไร่ ไม่แตกต่างกับผลผลิตโดยเฉลี่ยทั่วไปของภาคอีสาน 350 - 450 กก./ไร่
2.วิธีจัดตารางการปลูกให้เหมาะสมโดยหว่านกล้ากลางเดือนสิงหาคม 2561 และปักดำต้นเดือนกันยายน 2561 ทำให้ความสูงของข้าวหอมมะลิระยะติดดอกอยู่ในพิกัดไม่เกิน 150 Cm จึงไม่เสี่ยงต่อ "ต้นข้าวล้ม" เพราะลมหนาวพัดแรงในปลายเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน
ประมวลภาพถ่ายต่อไปนี้เป็นรายงานผลการทดสอบในแปลงของสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
หว่านกล้าและเริ่มงอกวันที่ 15 สิงหาคม 2561 (2018)

ปักดำวันที่ 2 กันยายน 2561 (2018) โดยใช้ "กล้าต้นเดียว" เพื่อทดสอบอัตราการแตกกอ

หลักจากปักดำรักษาระดับน้ำประมาณ 5 Cm เพื่อควบคุมวัชพืชประมาณ 2 อาทิตย์

เมื่อแน่ใจว่าวัชพืชหมดแล้วก็ลดระดับน้ำในแปลงให้เหลือเพียง 1 Cm

รักษาระดับน้ำอยู่ที่ 1 Cm ข้าวกำลังอยู่ในระยะแตกกอ (Tillering Stage)
ข้าวหยุดการแตกกอและเข้าสู่ระยะ "ตั้งท้อง" (Booting Stage)

ยังคงรักษาระดับน้ำไม่เกิน 1 Cm และสังเกตการกระจายตัวของรากฝอยที่ขึ้นมากินอาหารตามหน้าผิวดินที่มีความชื้นและอากาศในอัตราที่เหมาะสม (Aerobic Condition)

ปลายเดือนตุลาคม เข้าสู่ระยะออกดอก (Flowering Stage) ยังคงรักษาระดับน้ำราวๆ 1 Cm

ตรวจสอบความสูงของต้นข้าวระยะออกดอกโดยให้นักศึกษาวิชาพืชศาสตร์ชื่อ "น้องชมพู่" มีส่วนสูง 165 Cm เข้าไปยืนเปรียบเทียบ

แปลงทดสอบปีแรก 2559 (2016) ต้นข้าวสูงมากราวๆ 180 Cm ทำให้ข้าวล้มในระยะติดรวงเพราะลมหนาวพัดแรง ในภาพให้นักศึกษาวิชาพืชศาสตร์ชื่อ "น้องส้ม" สูง 165 Cm เข้าไปยืนเปรียบเทียบ ปีต่อมา 2560 (2017) ปรับตารางการเพาะกล้าและปักดำใหม่เพื่อให้ข้าวมีอายุสั้นลงประมาณ 30 วัน ทำให้ความสูงลดลงและไม่เกิดปัญหาข้าวล้มในช่วงเก็บเกี่ยว

พร้อมเก็บเกี่ยว (ข้าวไม่ล้ม) และวัดผลผลิตได้ 410 กก. / ไร่

เก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 (2018) โดยนักศึกษาวิชาพืชศาสตร์

นักศึกษาวิชาพืชศาสตร์ปี 4 ชื่อ "เจมส์ และฮั่น" เป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาและทำการวิจัยข้าวแปลงนี้ตั้งแต่ปี 2560

ผลผลิตข้าวหอมมะลิน้ำใช้น้อย ..... ไม่ต่างกับผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วๆไปในภาคอีสาน 350 - 450 กก. / ไร่

ตารางการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เปรียบเทียบกับช่วงความยาวของแสงอาทิตย์

ปัญหาที่เราๆท่านๆเห็นจำเจกับอาชีพการทำนาในประเทศไทย
สรุป
ผลผลิตของข้าวหอมมะลิใช้น้ำน้อยอยู่ที่ 410 กก. / ไร่ ไม่แตกต่างกับผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไปในภาคอีสาน 350 - 450 กก. / ไร่
1.มีแนวโน้มสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 550 - 600 กก. / ไร่ ถ้าปักดำที่ระยะ 25 Cm x 25 Cm แต่แปลงทดลองนี้ใช้ระยะปักดำที่ 50 Cm x 25 Cm เพราะต้องเว้นช่อง 50 Cm ให้นักศึกษาเดินลงไปเก็บข้อมูลในแปลงได้สะดวก
2.การปรับตารางปลูกโดยเพาะกล้ากลางเดือนสิงหาคมและปักดำต้นเดือนกันยายนจะทำให้ข้าวหอมมะลิมีความสูงไม่เกิน 150 Cm จึงไม่เสี่ยงต่อ "ข้าวล้ม" ในช่วงติดรวงเพราะลมหนาวพัดแรงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม
3.ข้าวหอมมะลิไม่ได้ต้องการ "ใช้น้ำมาก" อย่างที่เราๆท่านๆคิดกัน และการใช้นำน้อยเท่ากับลดความเสี่ยงต่อภาวะ Climate Change ซึ่งก่อให้เกิดฝนทิ้งช่วงและฝนแล้ง และยังลดภาระการใช้น้ำชลประทานได้มาก
4.หากมีวิธีการ "ควบคุมวัชพืช" ที่ไม่ต้องแช่น้ำราวๆ 2 อาทิตย์ หลังการปักดำก็จะยิ่งประหยัดน้ำลงได้อีกมาก
5.เป็นการปลูกข้าวในสภาพ Aerobic ลดความเสี่ยงต่อการปลดปล่อยก๊าซมีเทน (Methane Emission) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ก่อให้เกิด Chimate Change
6.ต้องปรับปรุงคุณภาพดินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อินทรีย์วัตถุ" และปรับหน้าดิน (Land Levelling) ให้เรียบเสมอกันทั้งแปลงเพื่อเอื้อต่อการรักษาระดับน้ำที่ 1 Cm
ขอขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ให้ความร่วมมือในโปรเจคนี้อย่างดีเยี่ยม
ดร.พิจิกา ทิมสุกใส
ผศ.ณัฐพงษ์ วงษ์มา
ดร.สมชาย บุตรนันท์