พระยาสุระอุทก .........หนองหารหลวง
ตำนานที่จับต้องได้
ฟังเรื่องราวตำนานเมืองหนองหารหลวงในเวอร์ชั่น "พระยาสุระอุทก" เปรียบเทียบกับเวอร์ชั่น "ผาแดง นางไอ่" พบว่าตำนานพระยาสุระอุทกน่าจะมีเค้าโครงจากความเป็นจริงมากกว่าเพราะสามารถพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์และโบราณคดีด้วยหลักฐานที่เรียกว่า "วัตถุพยาน" และตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ รวมทั้งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สอดคล้อง

คำบอกเล่าจากท่าน ผศ.ดร.สพสันติ์ เพชรคำ อดีตผู้อำนวยการศูนย์หนองหารศึกษา บอกว่าการตั้งเมืองเดิมตามตำนานหนองหารหลวงอยู่ที่บริเวณบ้านน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว ด้านทิศตะวันออกของหนองหาร ต่อมาย้ายมาสร้างเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นเมืองสกลนครปัจจุบัน ประกอบกับเมื่ออ่านเอกสารที่มีผู้รวบรวมในชื่อ "สกล ซิตี้" ก็ได้เรื่องราวเพิ่มเติมทำให้ร้อยเรียงเรื่องราวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงตำนานไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ผู้รวบรวมก็พูดตรงๆว่าคัดลอกเอามาจาก internet และมาเรียบเรียงใหม่ให้ดูง่ายขึ้น
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพก่อนนำเข้าสู่บทเรียนจึงขอเล่าเรื่องราวโดยสังเขป ดังนี้
1.กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วขุนขอมราชบุตรของเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร (เข้าใจว่าเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรขอม ปัจจุบันน่าจะตรงกับ Siem Reap ประเทศกัมพูชา) นำครอบครัวและข้าทาสบริวารมาตั้งบ้านเรือนที่ริมบึงหนองหารตรงท่านางอาบ ปัจจุบันคือบ้านน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว และให้ชื่อเมืองนี้ว่า "หนองหารหลวง"

2.ขุนขอมมีบุตรชายชื่อว่า "สุระอุทกกุมาร" ในวันประสูติมีพระขรรค์ติดตัว และเกิดปรากฏการณ์ "น้ำพุ" พุ่งขึ้นมาจากใต้ดินใกล้ๆกับเมือง จึงตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า "ซ่งน้ำพุ" เมื่อขุนขอมสิ้นพระชนม์ เจ้าสุระอุทกก็ขึ้นครองเมืองมีนามตามท้องเรื่องว่า "พระยาสุระอุทก" พระยาสุระอุทกให้กำเนิดบุตรชายสองคน ชื่อว่า เจ้าภิงคาร และเจ้าคำแดง

3.ต่อมาพระยาสุระอุทกเกิดเรื่องวิวาทกับพญานาคธนมูลมีการต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ของทั้งคู่แต่ไม่มีใครแพ้หรือชนะ พยานาคธนมูลยังคงเจ็บใจจึงพาบรรดาพรรคพวกแปลงกายเป็น "เก้งเผือก" เดินทางมายังนครหนองหารหลวง ฝ่ายพระยาสุระอุทกทราบข่าวว่ามีเก้งเผือกมากินหญ้าอยู่นอกเมืองจึงสั่งให้นายพรานไปล่าเอาเนื้อมาแบ่งกันกิน พอตกดึกผู้คนหลับหมดเก้งเผือกคืนร่างเป็นเหล่าพญานาคบุกเข้าโจมตีเมืองจนจมลงเป็นส่วนหนึ่งของบึงหนองหาร และใช้บ่วงนาคราชรัดคอพระยาสุระอุทกจนเสียชีวิตและลากศพไปทิ้งแม่น้ำโขง

4.อย่างไรก็ตามบุตรชายทั้งสองคือเจ้าภิงคารและเจ้าคำแดงพร้อมด้วยชาวเมืองจำนวนหนึ่งไหวตัวทันและว่ายน้ำหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่ที่เกาะดอนสวรรค์ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่กลางบึงหนองหาร
5.ชาวเมืองจึงพร้อมใจยกให้เจ้าภิงคารขึ้นเป็นเจ้าครองเมืองมีนามตามท้องเรื่องว่า "พระยาสุวรรณภิงคาร" และย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่บริเวณ "ภูน้ำลอด" ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองหนองหารหลวงเก่า และสร้างปราสาทที่กลางเมืองชื่อว่า "ธาตุเชิงชุม" มีความหมายว่าเป็นที่ประทับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ปัจจุบันมีชื่อว่า "พระธาตุเชิงชุม"
6.ตำนานของบ้านน้ำพุมีคำกล่าวว่า......ในวันสงกรานต์ของทุกปีเจ้าเมืองหนองหารหลวงจะมาสรงน้ำพุที่เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหนองหารหลวงเก่า

ป้ายแสดงตำนานบ้านน้ำพุ มีข้อความระบุว่าทุกปีในวันสงกรานต์เจ้าเมืองหนองหารหลวงจะมาสรงน้ำพุ ณ สถานที่แห่งนี่
ตำนาน ....... มีเค้าจากเรื่องจริง
หลายท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่อาจมองว่า "ตำนาน" เป็นเรื่องนิทานลมๆแล้งๆ แต่ในประสบการณ์ส่วนตัวของผมเชื่อว่าตำนานน่าจะมีเค้าจากเรื่องจริงบางส่วนและนำมาใส่ใข่ให้ดูน่าอัศจรรย์เหมือนกับตำนานของหลายประเทศ จะยกตัวอย่างให้ดูเป็นน้ำจิ้มสัก 3 แห่ง
1.ตำนานการสร้างกรุงโรมตามชื่อของเด็กสองคนคือโรมุสและโรมิรุสที่แม่เอาไปทิ้งในป่าและมีหมาป่าแม่ลูกอ่อนมาพบจึงเกิดความสงสาร นำเด็กน้อยทั้งคู่ไปเลี้ยงเป็นลูกจนเติบใหญ่เป็นชายหนุ่มที่แข็งแรงและเป็นผู้สร้างกรุงโรม ดังนั้นถ้าท่านไปเที่ยวที่ประเทศอิตาลีจะเห็นอนุเสาวรีย์เป็นรูปหมาป่ากำลังให้นมเด็กน้อยสองคน


ตามแหล่งโบราณสถานของประเทศอิตาลีจะมีอนุเสาวรีย์เป็นรูปหมาป่ากำลังให้เด็กน้อยสองคนกินนม นั่นคือโรมุสและโรมิรุสผู้สร้างกรุงโรม ภาพนี้ถ่านที่เมืองปีซ่าที่มีหอคอยเอียงเป็นสัญลักษณ์
2.ตำนานกรุงทรอย (Troy) รู้จักกันดีในเรื่องราวของ "ม้ากรุงทรอย" (The horse of Troy) ใครๆก็ฟันธงว่าเป็นเพียงนิทานสนุกๆแต่เศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันชื่อเฮนริช ชลีมัน (Heinrich Schliemann) เชื่อว่ากรุงทรอยต้องมีตัวจนจริงจึงลงทุนขออนุญาตรัฐบาลตุรกีทำการขุดค้นเมื่อปี ค.ศ.1868 จนพบว่ากรุงทรอยมีตัวตนจริงๆ ปัจจุบันซากโบราณสถานแห่งนี้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยวแก่ประเทศตุรกี

ตำนาน "ม้าแห่งกรุงทรอย" เป็นเสมือนนิยายโด่งดังไปทั่วโลกและเป็นภาพยนต์ดังๆหลายเรื่อง
จนกลายเป็นสำนวนภาษาอังกฤษว่า The Horse of Troy มีความหมายว่า "กลลวง"

ตำนานกรุงทรอยที่ใครก็คิดว่าเป็นเรื่องนิยายสนุกๆ แต่นักสำรวจที่ชื่อ Heirich Schliemann ปักใจว่าเป็นเรื่องจริงและลงมือขุดค้นจนในที่สุดกรุงทรอยก็ปรากฏแก่สายตามหาชน
3.ตำนานเทพเจ้ากูลกูข่านของชาวมายาโบราณ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยูคาตัน ประเทศเม็กซิโก) พวกเขาเชื่อว่าในวันที่โลกตั้งฉากกับดวงอาทิตย์กลางวันเท่ากับกลางคืน เทพเจ้ากูลกูข่านในร่างพญางูยักษ์จะเลื้อยลงมาจากท้องฟ้า พวกเขาจึงสร้างปีรามิดชื่อว่า Pyramid Kukulkan ให้มีเรื่องราวสอดคล้อง ปัจจุบันเป็นแหล่งทำเงินทำทองจากการการท่องเที่ยวของรัฐบาลเม็กซิกันที่ผู้คนแห่ไปชมปรากฏการณ์พญางูยักษ์เลื้อยลงมาจากยอดปีรามิดในวัน "วิษุวัต" (equinox) ระหว่าง 19 - 22 มีนาคม และ 21 - 24 กันยายน
ปีรามิดกูกูลข่าน (Pyramid Kukulkan) ที่ประเทศเมกซิโก มีปรากฏการณ์เงาของดวงอาทิตย์เป็นภาพพญางูยักษ์เลื้อยลงมาจากท้องฟ้าในวัน Equinox
ผมไปดูด้วยตนเองเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 (19 Mar 2016) ตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เรียกว่า "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) ณ ปีรามิดชาวมายาที่โบราณสถาน Chichen Itza จังหวัด Yucatan ประเทศเม็กซิโก
พระยาสุระอุทก ..... ตำนานที่จับต้องได้
เพื่อให้เรื่องราวของพระยาสุระอุทกมีความเป็นวิทยาศาสตร์จึงได้ค้นคว้าหลักฐานทางโบราณคดีตามข้อความต่างๆที่ปรากฏในตำนาน พบว่ามีความน่าสนใจหลายประการ ดังนี้
1.น้ำพุธรรมชาติเกิดขึ้นที่บริเวณบ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหนองหาร พิสูจน์ตามหลักธรณีวิทยาทราบว่าที่ตั้งของหมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ตำ่กว่าหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านนาแก้ว ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำที่สะสมใต้ดินไหลมาโผล่เป็นน้ำพุธรรมชาติ สามารถอธิบายตามหลักอุทกวิทยาว่าเกิดจากความต่างระดับของลำธารน้ำใต้ดิน (hydraulic head) ที่มีความเชื่อมโยงกัน
ภาพแสดงการเกิดน้ำพุพุ่งขึ้นมาจากใต้ดินโดยธรรมชาติตามหลักวิชาอุทกวิทยา
น้ำพุธรรมชาติเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและหยุดไหลในฤดูแล้งเมื่อน้ำที่สะสมในลำธารใต้ดินแห้งลง
2.พบกองขี้ตะกรันโลหะ (metal slag) ในบริเวณบ้านน้ำพุ แสดงว่าต้องมีการหลอมโลหะเพื่อผลิตเป็นเครื่องมือและอาวุธ ดังนั้นก็น่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญทางโลหะวิทยาสามารถสร้างเตาถลุงโลหะที่ต้องใช้ความร้อนสูง
กองขี้ตะกรันโลหะ (metal slag) พบบริเวณใกล้ๆกับน้ำพุธรรมชาติ
3.พิจารณาจากภาพถ่าย Google Earth เห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า "ท่านางอาบ" มีคันดินคล้ายกับขอบเขตการตั้งเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ปัจจุบันคันดินดังกล่าวก็ยังคงปรากฏชัดแต่เป็นที่ดินของส่วนบุคคลจึงไม่สามารถเข้าไปขุดค้น
4.ตามข้อความในตำนานที่กล่าวถึงบุตรชายทั้งสองของพระยาสุระอุทกคือ "เจ้าภิงคาร" และ "เจ้าคำแดง" รอดชีวิตด้วยการว่ายน้ำไปอยู่ที่เกาะดอนสวรรค์ และย้ายเมืองมาตั้งอยู่บริเวณ "ภูน้ำลอด" ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองหนองหารหลวงเดิม และชาวเมืองได้พร้อมใจยกให้เจ้าภิงคารขึ้นเป็นเจ้าเมืองในชื่อว่า "พระยาสุวรรณภิงคาร" มีมเหสีชื่อว่า "พระนางนารายณ์เจงเวง" และมีการสร้างปราสาทชื่อว่า "ธาตุเชิงชุม" เป็นศูนย์กลางของเมืองหนองหารหลวงใหม่เพื่อรำลึกถึงการที่พระพุทธเจ้า 4 พระองค์มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ สถานที่นี้ ปัจจุบันเป็นตัวเมืองสกลนครซึ่งสร้างทับผังเมืองขอมโบราณ ประเด็นที่น่าสนใจของการสร้างเมืองใหม่ ..... คือ
ทำไมต้องเลือกตรงนี้ .... เพราะสถานที่เหมาะสมต่อการสร้างเมืองริมหนองหารมีตั้งเยอะแยะ เช่น บริเวณพระธาตุดุม หรือบ้านดอนเหล่าทัพ ฯลฯ และยิ่งกว่านั้นเมืองหนองหารหลวงใหม่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมหันหน้าตรงไปยังบริเวณเมืองหนองหารหลวงเก่าที่ฝั่งทิศตะวันออกของหนองหาร โดยกำหนดให้ center-line ทำมุมกวาดจากทิศเหนือ 80 องศา (azimuth 80)
สถานที่เหมาะสมของการสร้างเมืองหนองหารหลวงแห่งใหม่มีตั้งเยอะแยะแต่ทำไมต้องเลือก ณ สถานที่นี้ แสดงว่าต้องมีนัยสำคัญให้ทำมุมตรงกับเมืองหนองหารหลวงเก่าที่ฝั่งตรงข้ามในทิศตะวันออก ปัจจุบันคือบ้านน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว
ภาพถ่าย Google Earth ยืนยันว่าผังเมืองสี่เหลี่ยมของสกลนครทำมุมกวาด 80 องศา (Azimuth 80)
ภาพถ่ายปี 2497 แสดงว่าเมืองหนองหารหลวงแห่งใหม่มีรูปร่างสี่เหลี่ยม และทำมุมกวาด 80 องศา
บาราย (สระน้ำศักดิ์สิทธิ์) และพระธาตุเชิงชุม (ปราสาทขอม) ทำมุมเท่ากับ 80 องศาเพื่อสอดคล้องกับผังของตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยม การวางผังเมืองแบบนี้เป็นสไตล์ที่เรียกว่า "ไฟต์บังคับ" ของอาณาจักรขอม
พระธาตุเชิงชุมที่เห็นในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้างสร้างครอบปราสาทขอมไว้ข้างใน
ภาพถ่าย Google Earth แสดงค่ามุมกวาดของพระธาตุเชิงชุมที่ 80 องศา
คนรุ่นใหม่ที่เป็นสาวก IPhone ก็สามารถใช้ application compass พิสูจน์การวางตัวของพระธาตุเชิงชุมด้วยตนเองว่าเท่ากับมุมกวาด 80 องศา (azimuth 80)
ตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ GPS ยี่ห้อดัง Garmin ก็ confirm มุมกวาดของพระธาตุเชิงชุมที่ 80 องศา
ถ่ายภาพทางอากาศจาก Nok Air ก็มองเห็นว่าเมืองสกลนครหันไปทางบ้านน้ำพุ
5.ตามข้อความที่ปรากฏในป้ายการท่องเที่ยวบ้านน้ำพุกล่าวถึง "วันสงกรานต์ของทุกปีเจ้าเมืองหนองหารหลวงจะมาสรงน้ำพุ" ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคำจารึกภาษาขอมโบราณที่ขอบประตูวัดพระธาตุเชิงชุมที่กล่าวถึง ........ ถวายแด่สงกรานต์ แสดงเมืองหนองหารหลวงต้องมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ที่มีชื่อว่า "สงกรานต์" ในที่นี้น่าจะหมายถึง "มหาสงกรานต์" ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูแต่ครั้งโบราณที่อธิบายถึงช่วงเวลา ณ ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีน (Pisces) เข้าสู่ราศีเมษ (Aries) ดังนั้น เพื่อพิสูจน์เชิงประจักษ์จึงต้องรอให้ถึงวันสงกรานต์ 14 - 16 เมษายน ไปรอชมและถ่ายภาพดวงอาทิตย์ที่ประตูวัดพระธาตุเชิงชุม และสระพังทอง (บารายขอม)
คำจารึกภาษาขอมโบราณที่ประตูวัดพระธาตุเชิงชุมมีคำว่า ...... ถวายแด่สงกรานต์
ตามหลักโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ "มหาสงกรานต์" คือปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีน (Pisces) เข้าสูราศีเมษ (Aries) ใช้โปรแกรมดาราศาสตร์คำนวณย้อนหลังไปราวพันปีที่แล้วจะเห็นปรากฏการณ์มหาสงกรานต์และดวงอาทิตย์อยู่ที่ตำแหน่งมุมกวาด 80 องศา
ผู้สร้างปราสาทขอมที่กลางเมืองหนองหารหลวงมีเจตนาให้หันตรงกับ 80 องศา เพื่อสอดรับกับปรากฏการณ์มหาสงกรานต์ตามคำจารึก
ครั้นเมื่ออาณาขอมล่มสลายและจักรล้านช้างเข้ามาแทนที่ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ได้ดัดแปลงปราสาทขอมให้เป็นพระธาตุตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายหินยาน แต่ก็ยังคง center-line ไว้ที่ 80 องศา
ดวงอาทิตย์ยามเช้าของวันสงกรานต์ขึ้นตรงพิกัด center ของวัดพระธาตุเชิงชุม ซึ่งสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมเป็นปราสาทขอมโบราณอยู่ข้างในองค์พระธาตุ
ดวงอาทิตย์ในวันมหาสงกรานต์ 14 - 16 เมษายน ตรงกับประตูกลางของอุโบสถวัดพระธาตุเชิงชุม ถ้าถ่ายภาพทางด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุจะเห็นแสงออร่าฉายบนท้องฟ้า

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์จากภายในพระอุโบสถของวัดพระธาตุเชิงชุมในวันมหาสงกรานต์ ช่วง 14 - 16 เมษายน

14 เมษายน ดวงอาทิตย์ในวันมหาสงกรานต์ขึ้นตรงกับ center-line ของสระพังทอง (บาราย) ที่มุม 80 องศา

วันที่ 15 เมษายน ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นตรงกับ center-line ของสระพังทอง (บาราย) และทำมุม 80 องศา
6.ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง เกาะดอนสวรรค์ ทั้งหมดนี้อยู่ในเส้นตรงเดียวกันชี้ไปที่บริเวณบ้านน้ำพุ และเส้นตรงดังกล่าวยังขนานกับ "เส้นศูนย์สูตรโลก" ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" เป็นเส้นตรงเดียวกัน
ประมวลภาพดวงอาทิตย์ขึ้นที่เกาะดอนสวรรค์ในทะเลสาปหนองหารในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" กลางวันเท่ากับกลางคืน ตรงกับวันที่ 1 เดือนไจตระ ปีใหม่ของปฏิทินมหาศักราชที่ใช้ในอาณาจักรขอม

ปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ที่ใช้ในราชสำนักของอาณาจักรขอม กำหนดให้วันที่ 1 เดือนไจตระ (1st of Chaitra Month) เป็นปีใหม่ และตรงกับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) เทียบกับปฏิทินสากลในปัจจุบันคือ วันที่ 21-22 มีนาคม (ขึ้นอยู่กับว่าปีใหนเป็น "Leap Year" เดือนกุมภาพันธ์ มี 29 วัน )

วันที่ 1 เดือนไจตระ ปีใหม่แห่งปฏิทินมหาศักราช ดวงอาทิตย์ขึ้น ณ center ของปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
.jpg)
ยิงมุมกล้องจาก centerline ของปราสาทภูเพ็ก บนยอดภูเขา +520 เมตร จะเห็นเกาะดอนสวรรค์ (สังเกตจากปลายยอดแท่งศิวลึงค์)
.jpg)
ในปรากฏการณ์วิษุวัต (equinox) ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับเกาะดอนสวรรค์ทำให้เกิดภาพเรืองแสงเป็นสีแดง
.jpg)
เปรียบเทียบภาพถ่ายเกาะดอนสวรรค์เช้าตรู่วันธรรมดากับปรากฏการณ์วิษุวัต
.jpg)
ภาพซูมให้เห็นเกาะดอนสวรรค์ในเช้าตรู่วันธรรมดากับเช้าตรู่ปรากฏการณ์วิษุวัต
ประมวลภาพดวงอาทิตย์ตกบนยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทภูเพ็ก ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต"

ภูเขาที่มีรูปร่างเหมือน "เขาพระสุเมรุ" ถูกเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งปราสาทภูเพ็ก มองจากทะเลสาปหนองหาร

ภาพซูมภูเขาที่ชื่อภูเพ็ก

ภูเขาลูกนี้มีรูปร่างเหมือนเขาพระสุเมรุจึงถูกเลือกให้เปผ็นที่ตั้งของปราสาทภูเพ็ก

ปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่บนยอดภูเขาที่ชื่อ "ภูเพ็ก" สูงจากระดับน้ำทะเล +520 เมตร

ภาพถ่ายระยะไกลจากทะเลสาปหนองหารมองเห็นดวงอาทิตย์หย่อนตัวลงที่ยอดภูเขาที่ชื่อ "ภูเพ็ก" ในปรากฏการณ์วิษุวัต
.jpg)
ภาพซูมให้เห็นดวงอาทิตย์หย่อนตัวที่ยอดเขา "ภูเพ็ก"
.jpg)
ดวงอาทิตย์หายไปด้านหลังภูเพ็ก
.jpg)
การหย่อนตัวของดวงอาทิตย์บนยอดเขาภูเพ็กในปรากฏการณ์วิษุวัต
สรุป
แม้ว่าเรื่องราวของพระยาสุระอุทกเป็นเพียงตำนานที่เล่าขาน แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นวัตถุพยานสอดคล้องกับเรื่องราวนั้นมีตัวจริงเสียงจริง ได้แก่การเลือกสถานที่ตั้งเมืองหนองหารหลวงแห่งใหม่ถูกกำหนดให้หันหน้าตรงกับเมืองหนองหารหลวงเก่าด้วยมุมกวาด 80 องศา ท่านสามารถพิสูจน์ด้วยตนเองด้วยเทคโนโลยียุค Thailand 4.0 อีกทั้งคำจารึกภาษาขอมโบราณที่กล่าวถึง "สงกรานต์" ประกอบกับตำนานของบ้านน้ำพุกล่างถึงเจ้าเมืองหนองหารหลวงทุกคนต้องมาสรงน้ำพุในวันสงกรานต์
ก็พิสูจน์เชิงประจักษ์ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับตำแหน่ง center-line ของเมืองหนองหารหลวงจริงๆ อย่างไรก็ตามมีคำถามที่ต้องขบคิดกันต่อไป เช่น
1. ชื่อบุคคลที่ปรากฏในตำนาน "พระยาสุระอุทก" และ "พระยาสุวรรณภิงคาร" มีตัวตนจริงหรือไม่ ....... ความเห็นส่วนตัวของผมถือว่าชื่อเหล่านี้เป็น "นามตามท้องเรื่อง" แต่ที่แน่ๆเจ้าเมืองหนองหารหลวงมีตัวตนเป็นชาวขอมจริงๆ เพียงแต่เราๆท่านๆไม่พบจารึกว่าท่านเหล่านั้นมีนามว่าอย่างไร อนึ่งเท่าที่อ่านคำแปลภาษาไทยจากจารึกภาษาขอมที่วัดพระธาตุเชิงชุม มีการระบุชื่อตำแหน่งของผู้ปกครอง เช่น โขลญพล กำเสตง โลญ ไม่มีชื่อของบุคคลเป็นการเฉพาะ มีแต่ชื่อหมู่บ้าน 2 แห่งคือ "นุรพิเนา" และ "ชะเลง"
2.ตำนานเรื่องนี่แต่งขึ้นโดยผู้ใดและสมัยไหน? ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าแต่งขึ้นในสมัยล้านช้างหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้นตรงกับยุคของเมืองสกลทวาปีถูกตั้งชื่อใหม่เป็นสกลนคร เพราะคำว่า "หนองหารหลวง" มีที่มาจากจารึกภาษาไทน้อยซึ่งใช้ในสมัยล้านช้างระบุคำว่า "ศรีเชียงใหม่หนองหาน" จารึกนี้พบที่บ้านท่าวัด ริมหนองหาร ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร ถ้าจะอ้างอิงถึงการบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็พอจะเทียบเคียงกับ ...... บันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จมาตรวจราชการที่เมืองสกลนครเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2449 ท่านกล่าวถึงชื่อปราสาทนารายณ์เจงเวงว่า "อรดีมายา" ซึ่งสะท้อนถึงอุรังนิทานที่ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายสร้างปราสาทแข่งกันเพื่อชิงความเป็นเจ้าของ "อุรังคธาตุ" สอดคล้องกับบันทึกของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ เอนเตี้ยน อะมอนีเยร์ เดินทางมาที่สกลนครก่อนหน้ากรมพระยาดำรงราชนุภาพราวๆ 2-3 ปี ก็ได้บันทึกเรื่องราวการแข่งขันสร้างปราสาทระหว่าฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง
3.ทำไมไม่กล่าวถึงตำนาน "ผาแดง นางไอ่" ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้มีปรากฏที่จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดยโสธร ถ้าเราชาวสกลนครยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็จะขัดอกขัดใจกัน เหมือนกับการใช้ชื่อ "หนองหาร" สกลนคร กับ "หนองหาน" อุดรธานี แต่เรื่องราวของพระยาสุระอุทก ....... เป็น Sakon Only และมีความสอดคล้องกับวัตถุพยานมากกว่า
หากท่านที่มีธุรกิจท่องเที่ยวได้อ่านบทความนี้ ก็สามารถนำไปร้อยเรียงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่องโยง "สถานที่จริง พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และปรากฏการณ์จริงๆในช่วงวันสงกรานต์" ...... สมกับ "หนองหารหลวง ตำนานที่จับต้องได้"